การใช้พื้นที่ของวัด

22152 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การใช้พื้นที่ของวัด

วัดโดยทั่วไปนิยมแบ่งเขตพื้นที่ภายในออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ
๑. เขตพุทธาวาส
๒. เขตสังฆาวาส
๓. เขตธรณีสงฆ์

๑. เขตพุทธาวาส
เป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งสถานที่ประทับขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำว่าพุทธาวาส มีความหมายเป็น สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า (พุทธาวาส = พุทธะ+อาวาส) เขตพุทธาวาสมักประกอบด้วยสถาปัตยกรรมหลักสำคัญๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์และพิธีกรรมต่างๆ คือ

๑. พระเจดีย์ พระมณฑป พระปรางค์ : อาคารที่สร้างเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางหลักของวัด
๒. พระอุโบสถ : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการทำสังฆกรรม
๓. พระวิหาร : อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างพระสงฆ์และฆราวาส
๔. เจดีย์ (มณฑป, ปรางค์)ราย เจดีย์ (มณฑป, ปรางค์)ทิศ : อาคารที่ใช้บรรจุอัฐิ หรือประกอบเพื่อให้ผังรวมสมบูรณ์
๕. หอระฆัง : อาคารที่ใช้เป็นเครื่องตีบอกเวลาสำหรับพระภิกษุสงฆ์
๖. ศาลาต่างๆ เช่นศาลาราย : อาคารที่ใช้เป็นที่นั่งพักของผู้มาเยือน
ศาลาทิศ : อาคารที่ใช้ล้อมอาคารสำคัญสำหรับให้คฤหัสถ์นั่งพัก หรือประกอบเพื่อให้ผังรวมสมบูรณ์
๗. พระระเบียง : อาคารที่ล้อมอาคารหลักสำคัญหรือล้อมแสดงขอบเขตแห่งพุทธาวาส
๘. พลับพลาเปลื้องเครื่อง : อาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่พระมหากษัตริย์เปลี่ยนชุดฉลองพระองค์ในวาระที่ทรง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล
พระเจดีย์ พระปรางค์ และพระมณฑป ถือเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดในฐานะหลักประธานของวัด จึงมักถูกวางตำแหน่งลงในผังตรงส่วนที่สำคัญที่สุดของเขตพุทธาวาส เช่น บริเวณกึ่งกลางหรือศูนย์กลางหรือแกนกลางของผัง อาคารสำคัญรองลงมากลุ่มแรกคือ พระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งอาคารทั้ง ๒ ประเภทนี้มักใช้ประกอบคู่กันกับพระเจดีย์เสมอ หรืออาจใช้ประกอบร่วมกันทั้ง ๓ ประเภท คือ พระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร ทั้งนี้เนื่องเพราะอาคารทั้ง ๒ ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พระอุโบสถหรือพระวิหารจึงมักวางทางด้านหน้าของพระเจดีย์เสมอในลักษณะของแนว แกนดิ่ง เพื่อว่าเวลาประกอบพิธีกรรม ทุกผู้ทุกนาม ณ ที่นั้นจะได้หันหน้าไปยังพระองค์ และถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีการใช้ประกอบร่วมกันทั้ง ๓ อย่างก็ตาม อาทิเช่น พระวิหารวางด้านหน้าสุด มีพระเจดีย์อยู่กลาง และพระอุโบสถอยู่ด้านหลัง ตัวพระอุโบสถด้านหลังนั้น ก็มักจะหันส่วนหน้าของอาคารไปทางด้านหลังด้วย เพื่อว่าเวลาที่เข้าไปทำสังฆกรรม จะยังคงสามารถหันหน้าเข้าสู่องค์พระเจดีย์ได้เช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ตามตำแหน่งของอาคารก็ไม่มีข้อกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวเสมอไป (ยกเว้นพระเจดีย์ ที่ยังคงตั้งอยู่ในตำแหน่งหลัก) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวความคิดและคตินิยมของแต่ละสมัยเป็นปัจจัยสำคัญ

สำหรับอาคารประเภทอื่นๆ เช่น พระระเบียง ศาลาราย จะปรากฏร่วมในผังในลักษณะอาคารรองกลุ่มที่ ๒ ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบที่สร้างให้ผังมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของประโยชน์ใช้สอย หรือในเชิงความหมายของสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อก็ตาม โดยมักปรากฏในลักษณะที่โอบล้อมกลุ่มอาคารหลักประธานสำคัญเหล่านั้น

ลักษณะการวางตำแหน่งอาคารในผังเขตพุทธาวาส
พื้นฐานพุทธสถาปัตยกรรมของไทยมีแบบแผนและแนวความคิดรวมทั้งคติความเชื่อ ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียและลังกา เนื่องจากศาสนาพุทธในไทยได้รับการเผยแพร่มาจากทั้งอินเดียโดยตรง และผ่านทางลังกา แม้ว่าจะมีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงตั้งอยู่บนกรอบของเค้าโครงที่เป็น แม่บทเดิม นั่นคือการสร้างพระเจดีย์ให้เป็นประธานของพระอาราม โดยมีพระวิหารซึ่งเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมอยู่เบื้องหน้า ซึ่งได้พัฒนาการมาจากการสร้างพระเจดีย์อยู่ตอนท้ายของ “เจติยสถาน” ภายในถ้ำวิหารของพุทธสถานในอินเดีย ก่อนที่จะมีการสร้างอาคารที่เป็นพระวิหารในที่แจ้งขึ้น โดยพระเจดีย์นั้นหลุดออกไปอยู่นอกอาคาร พร้อมๆกับสร้างรูปพระพุทธรูปไว้ ณ ตำแหน่งที่เคยตั้งพระเจดีย์ภายในห้องพิธีนั้น เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะองค์ประธานของการประชุมกิจของสงฆ์ที่จะมีขึ้น

พระเจดีย์ภายในถ้ำวิหารของเจติยสถานในอินเดีย
พุทธสถานในประเทศไทยก็อาศัยกฎเกณฑ์ของการวางแผนผังเช่นนี้มาใช้ในวิถี ปฏิบัตินับแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ตรงกับสมัยทวาราวดีเป็นต้นแบบสืบมาจนถึงปัจจุบัน บนความเปลี่ยนแปลงและคลี่คลาย แบบอย่างของแผนผังที่มีอาคารหลัก คือพระเจดีย์(พระปรางค์, พระมณฑป) พระวิหาร และพระอุโบสถ ในลักษณะต่างๆกัน ๕ แบบ ดังนี้

๑. ผังแบบแนวแกนเดี่ยว หมายถึงการออกแบบผังพุทธาวาสที่มีพระเจดีย์ (พระปรางค์ พระมณฑป)และพระวิหาร หรือพระเจดีย์(พระปรางค์, พระมณฑป) และพระอุโบสถ หรือทั้งพระเจดีย์(พระปรางค์, พระมณฑป) พระอุโบสถและพระวิหารวางเรียงอยู่บนแนวแกนหลักประธานเพียงแนวเดียว เช่น วัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพฯ (พระวิหารและพระเจดีย์), วัดกุฎีดาว จ.อยุธยา (พระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร)
๒. ผังแบบแนวแกนคู่ หมายถึง การออกแบบแผนผังพุทธาวาส โดยการสร้างแนวแกนประธาน ๒ แนวขนานคู่กัน ทั้งนี้เพื่อหมายให้แนวแกนทั้ง ๒ มีความสำคัญเท่าๆกัน แล้วกำหนดวางอาคารหลักสำคัญลงบนแนวแกนทั้ง ๒ นั้น เช่น ผังวัดสุวรรณาราม ธนบุรี
๓. ผังแบบแนวขนาน ๓ แกน หมายถึง การออกแบบแผนผังพุทธาวาส โดยการสร้างแกนประธานขึ้น ๓ แนวขนานกัน หรือการสร้างแนวแกนหลักประธานขึ้นแกนหนึ่งแล้วสร้างแนวแกนย่อยหรือแกนรอง ประกบขนานอีก ๒ ข้างแนวแกนนั้น ก่อนวางอาคารหลักสำคัญแต่ละแนวแกน เช่น ผังวัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ ,ผังวัดเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี
๔. ผังแบบแนวแกนฉาก หมายถึง การออกแบบแผนผังพุทธาวาส โดยการสร้างแนวแกนประธานขึ้นแกนหนึ่งแล้วสร้างแนวแกนย่อยวางขวางในทิศทางที่ ตั้งฉากกับแกนประธาน มีพระวิหารอยู่หน้าพระเจดีย์ประธาน พระอุโบสถวางขวางในทิศทางตั้งฉากในตอนท้ายของพระเจดีย์ เช่น ผังวัดนางพญา จ.สุโขทัย, ผังวัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพฯ
๕. ผังแบบกากบาท หมายถึง การออกแบบแผนผังพุทธาวาส โดยการสร้างแนวแกนประธานขึ้นแกนหนึ่งแล้วสร้างแนวแกนย่อยอีกแนว วางขวางในทิศทางที่ตั้งฉากตัดกับแกนประธาน ผังลักษณะนี้มักเป็นวัดที่มีพระวิหารหลวง พระวิหารทิศและพระระเบียงชักเป็นวงล้อมพระเจดีย์หรือพระปรางค์ประธาน เช่น ผังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
๒. เขตสังฆาวาส
หมายถึงขอบเขตบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัด ที่กำหนดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีการใดทางศาสนา โดยตรง คำว่า สังฆาวาส มาจาก สงฆ์ + อาวาส แปลว่า ที่อยู่แห่งหมู่สงฆ์ พื้นที่บริเวณนี้จึงมักมีขอบเขตที่มิดชิดและประกอบไปด้วยอาคารสถาน ที่สัมพันธ์เฉพาะกับกิจกรรมและวัตรปฏิบัติที่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของ เพศสมณะเท่านั้น อันได้แก่

๑. กุฏิ : อาคารที่ใช้สำหรับอาศัยหลับนอน
๒. กัปปิยกุฎี : โรงเก็บอาหาร
๓. หอฉัน : อาคารที่ใช้เป็นที่ฉันภัตตาหาร
๔. วัจจกุฎี : อาคารสำหรับใช้ขับถ่าย
๕. ศาลาการเปรียญ : อาคารที่ใช้เป็นที่เรียนหนังสือของพระสงฆ์
๖. หอไตร : อาคารที่ใช้เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา
๗. ชันตาฆร : โรงรักษาไฟและต้มน้ำ
๘. ธรรมศาลา : โรงเทศนาธรรม
๙. ห้องสรงน้ำ : ห้องชำระกาย
๑๐. ศาลาท่าน้ำ : อาคารที่ใช้เป็นท่าและทางเข้าสู่วัดทางน้ำ
ลักษณะการวางตำแหน่งอาคารในผังเขตสังฆาวาส
กุฏิถือเป็นอาคารหลักสำคัญ โดยมีอาคารประเภทอื่นประกอบเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่เกี่ยวเนื่องกัน ส่วนใหญ่ไม่มีกฎเกณฑ์การวางผังมากนัก นอกจากบางประเภทของวัด ชั้นของวัด ที่ตั้ง รวมทั้งขนาดยังมีผลต่อการจัดวางผังของเขตนี้ กล่าวคือหากเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในแถบถิ่นชนบท นิยมวางตัวกุฏิกระจายตัวเป็นหลังๆ อาคารที่เป็นองค์ประกอบรองหลังอื่นๆ ก็จะจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้สอยของพระภิกษุ ส่วนใหญ่จะจัดกุฏิให้อยู่เป็นกลุ่ม โดยอาจแยกเป็นหลังๆหรือต่อเชื่อมด้วยชานเป็นหมู่หรือคณะฯ มีหอฉันอยู่ตรงกลางชาน ถัดเลยออกมาก็จะเป็นเรือนเว็จกุฎี ซึ่งปัจจุบันอาจรวมเข้ากับห้องสรงน้ำและมักสร้างต่อเรียงเป็นแถวๆ

สำหรับกัปปิยกุฎีหรือโรงเก็บอาหารก็มักรวมเข้ากับเรือนชันตาฆรเป็นอาคาร หลังเดียวกัน โดยอาจมีเพียงจุดเดียวรวมกันสำหรับวัดขนาดเล็ก หรือแยกเฉพาะตามหมู่หรือคณะสำหรับวัดขนาดใหญ่

ส่วนหอไตรก็จะแยกออกไปตั้งเดี่ยวอยู่กลางสระน้ำใหญ่ เช่นเดียวกับศาลาการเปรียญที่มักตั้งอยู่ในตำแหน่งที่พระสงฆ์ทั้งปวงสามารถ เข้ามาใช้สอยได้อย่างสะดวกทั่วถึง ขณะเดียว กันก็สามารถเอื้อต่อประชาชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย มักวางอยู่ด้านหน้าเขตสังฆาวาส หรือบริเวณส่วนที่ต่อกับเขตพุทธาวาส หรืออาจอยู่ทางด้านข้างของเขตธรณีสงฆ์ ที่ประชาชนสามารถเข้ามาได้ง่าย ส่วนธรรมศาลา จะมีขึ้นหากวัดนั้นไม่มีศาลาการเปรียญ

แต่สำหรับวัดขนาดใหญ่ ผังเขตสังฆวาสค่อนข้างจะมีระเบียบแบบแผนชัดเจน โดยเฉพาะวัดหลวงจะมีการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งและระบบของโครงสร้างผังอย่าง ตั้งใจ ด้วยการแบ่งเป็น “คณะ” โดยแบ่งขนาดตามจำนวนพระสงฆ์และองค์ประกอบย่อย เช่น หอฉัน หอไตร เว็จกุฎี กัปปิยกุฎี ฯลฯ ของแต่ละคณะ ซึ่งวิธีการจัดแบ่งก็อาศัยการแบ่งซอยออกเป็นลักษณะอย่างช่องพิกัด (Grid) อาทิเช่น เขตสังฆาวาส,วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ,วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ

๓. เขตธรณีสงฆ์
หมายถึงเขตพื้นที่ในพระอารามที่วัดกำหนดพื้นที่บางส่วนที่เหลือจากการจัด แบ่งเขตสำคัญ คือ เขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส ให้เป็นเขตพื้นที่สำหรับเอื้อประโยชน์ใช้สอยในเชิงสาธารณะประโยชน์ในลักษณะ ต่างๆของวัด เช่น ใช้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างความร่มรื่นให้วัด หรือใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารอื่นๆ เช่น สร้างเมรุสำหรับฌาปนกิจศพชุมชน ตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่สังคม แบ่งเป็นพื้นที่ให้คฤหัสถ์เช่าเพื่อใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน อาทิการสร้างตึกแถว หรือทำเป็นตลาด เป็นต้น

การแบ่งพื้นที่วัดออกเป็น ๓ ส่วนนี้ ในเชิงการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจึงให้หมายถึงส่วนหนึ่งคือเขตพุทธาวาสถูกใช้ เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ (Semi-Public Zone) อีกส่วนหนึ่งคือเขตสังฆวาสที่ใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัว (Private Zone) เฉพาะของพระสงฆ์ ส่วนเขตธรณีสงฆ์ก็เป็นเสมือนเขตพื้นที่สาธารณะ (Public Zone) สำหรับคนทั่วไป

ความสัมพันธ์ระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส
ความสัมพันธ์เฉพาะแต่ระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสนั้น ในดินแดนของไทยนับแต่สมัยสุโขทัยลงมาจะมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องซึ่ง กันและกันในลักษณะของผัง ซึ่งมีอยู่แบบ แต่ที่สำคัญก็คือเขตพุทธาวาส จะถูกกำหนดเอาไว้ว่าต้องอยู่ทางด้านหน้าเสมอ และไม่เคยมีปรากฏว่าจะมีวัดใดที่วางเขตสังฆาวาสเอาไว้ขวางทางเข้าด้านหน้า เขตพุทธาวาส
การแบ่งเขตพื้นที่แบบต่างๆระหว่างเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส

แบบประกบหน้าหลัง แบบชิดข้าง แบคู่ประกบ แบบล้อม ๓ ด้าน แบบโอบหักศอก

สำหรับ “เขตธรณีสงฆ์” นั้น มักจะอยู่บริเวณส่วนที่เป็นด้านข้างใดด้านหนึ่งหรือบริเวณส่วนด้านหลังของ พื้นที่วัดเสมอ เช่น วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ มีเขตธรณีสงฆ์ผืนใหญ่อยู่บริเวณส่วนหลังของวัด เป็นต้น

ดังนั้นโดยนัยนี้แสดงให้เห็นว่า เขตพุทธาวาสเป็นเขตแดนที่สำคัญที่สุดกว่าพื้นที่ส่วนอื่นใดทั้งหมดภายในวัด

Powered by MakeWebEasy.com