38358 จำนวนผู้เข้าชม |
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
(พระแก้วมรกต)
เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน หลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ ตำบลเวียง เมืองเชียงราย[1] (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย) ในปี พ.ศ. 1977 (หรือ ค.ศ. 1434) ฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง จึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิกเกิดกระเทาะออก เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ เห็นเป็นเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์
หลังจากนั้น พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ทราบข่าวการค้นพบพระพุทธรูปนี้ จึงเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่ช้างทรงพระแก้วมรกตกลับไม่เดินทางไปยังเชียงใหม่ แต่ไปทางลำปางหากช้างนั้นมีพระแก้วมรกตอยู่บนหลังช้าง เชียงใหม่เห็นว่าลำปางก็อยู่ในอาณาจักรล้านนาจึงนำไปไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้า ถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้เชิญพระแก้วมรกตมายังเชียงใหม่ สร้างปราสาทประดิษฐานไว้แต่ถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง ครั้นเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้างซึ่งเป็นญาติกับราชวงศ์ล้านนามาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาเสด็จกลับหลวงพระบาง ก็เชิญพระแก้วมรกตไปด้วยพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ ทางเชียงใหม่ขอคืนก็ได้แต่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ก็เชิญพระแก้วมรกตลงมาด้วย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบาง มาจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ (ลาว) ในครั้งนั้นประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงปัจจุบัน ส่วนพระบางได้คืนให้แก่ลาว
ตำนานพระแก้วมรกต
พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในปี พุทธศักราช 500 โดยพระนาคเสนเถระ วัดอโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ในแผ่นดินพระเจ้ามิลินท์ (เมนันเดอร์) สมเด็จพระอมรินทราธิราช พร้อมกับพระวิสสุกรรมเทพบุตร ได้นำแก้วโลกาทิพยรัตตนายก อันมีรัตนายกดิลกเฉลิม 1000 ดวง สีเขียวทึบ (หยกอ่อน) นำมาจำหลักเป็นพระพุทธรูปถวายให้พระนาคเสน ถวายพระนามว่า พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต พระนาคเสนจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงไปในพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต 7 พระองค์ คือพระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระเพลาซ้าย-ขวา แต่เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานแล้วนั้น เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนได้พยากรณ์ว่า พระแก้วองค์นี้ จะเสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ในเบญจประเทศ คือ ลังกาทวีป กัมโพชะศรีอโยธยา โยนะวิสัย ปะมะหละวิสัย และ สุวรรณภูมิ
พุทธศักราช 800 โดยประมาณในแผ่นดินพระเจ้าศิริกิตติกุมาร พระเชษฐราชโอรสในพระเจ้าตักละราช ขึ้นครองราชสมบัติเมืองปาฏลีบุตร เป็นช่วงที่เมืองปาฏลีบุตรเกิดมหากลียุค ทั้งมีการจลาจลภายในและข้าศึกภายนอก ผู้คนในปาฏลีบุตรที่เคารพนับถือพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ลงสู่สำเภาแล้วเดินทางลี้ภัยไปยังลังกาทวีป เมื่อถึงลังกาทวีปพระเจ้าแผ่นดินลังกาทวีปในสมัยนั้น(ไม่ได้ระบุพระนาม) ทรงรับรักษาพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตเป็นอย่างดียิ่ง และทรงอุปถัมภ์ค้ำชูชาวปาฏลีบุตรเป็นอย่างดีสมควรตามความดีความชอบ
พุทธศักราช 1000 โดยประมาณในแผ่นดินศรีเกษตรพุกามประเทศ พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครขณะนั้นคือพระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช(ภาษาบาลี) หรือ มังมหาอโนรธาช่อ(ภาษามอญ) พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระอานุภาพมาก บริบูรณ์ด้วยพลช้างพลม้าและทหารมากมาย แต่พระองค์ก็เป็นกษัตริย์ที่ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง มีพระราชโองการ ให้ส่งพระราชสาส์นและเครื่องมงคลบรรณาการ ไปยังลังกาทวีป เพื่อขอคัดลอกพระไตรปิฎกและขอพระแก้วมรกตกลับมาด้วย แต่เรือที่บรรทุกพระแก้วมรกตถูกพายุพัด พลัดเข้าไปทางอ่าวกัมพูชาแทน พระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์ เจ้ากรุงอินทปัตถ์มหานคร แคว้นกัมพูชา สั่งให้อำมาตย์คุมสำเภากลับไปถวายคืนแก่พระเจ้าอนุรุทธ แต่ส่งกลับไปเพียงพระไตรปิฎกเท่านั้น มิได้ส่งพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตไปด้วย
หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่กรุงอินทปัตถ์นานพอสมควร(ไม่ได้ระบุปี) ในแผ่นดินพระเจ้าเสน่ห์ราช เกิดพายุฝนขนาดใหญ่ตกเป็นนิจกาลยาวนานหลายเดือน(ไม่ได้ระบุ) พระเจ้าเสน่ห์ราชก็สวรรคตด้วยอุทกภัยนั้น พระมหาเถระ(ไม่ปรากฏพระนาม) ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาหนีไปยังที่ดอน พระเจ้าอติตะราช (อาทิตยราช) เจ้าครองนครอโยธยา(หมายถึงอโยธยาโบราณ) ทราบเรื่องจึงเสด็จกระบวนพยุหยาตรา ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ในที่ปลอดภัย โดยทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานในพระมหาเวชยันตปราสาท และได้ประดิษฐานในนครอโยธยาอีกหลายรัชสมัย
ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระบรมญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น จึงทูลขอนำพระแก้วมรกตขึ้นไป ประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดพระแก้วกำแพงเพชรในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต่อมา เจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าผู้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือสามหัวเมือง คือเชียงราย เชียงแสน และเมืองฝางได้ลี้ภัยจากศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่ ไปอาศัยอยู่กับพระยาญานดิส เจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อจะกลับไปเมืองเชียงราย ก็ได้ทูลขอพระแก้วมรกตต่อพระเจ้ากำแพงเพชร พระเจ้ากำแพงเพชรจึงได้ถวายให้เจ้ามหาพรหม
เมื่อเจ้ามหาพรหมชราภาพลง ด้วยความเป็นห่วงในพระแก้วมรกต จึงได้ทำการพอกปูนจนทึบและลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปสามัญทั่วไป แล้วบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์วัดป่าญะในเมืองเชียงรายโดยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งเกิดอัสนีบาตลงเจดีย์ตามที่ปรากฏในพงศาวดารของล้านนา
ปัญหาการตีความทางประวัติศาสตร์
พระแก้วมรกต พระบาง และพระพุทธรูปหลายองค์ มักมีตำนานเกี่ยวเนื่องกัน ว่าสร้างในกรุงปาฏลีบุตรบ้าง สร้างในกรุงราชคฤห์บ้าง ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเพื่อทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าตำนานนั้นเป็นเรื่องที่แต่งเติมขึ้น ในกรณีของพระแก้วฯ นั้น ตำนานระบุว่าสร้างในเมืองปาฏลีบุตร ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ, ประเทศอินเดีย โดยปี พ.ศ. 500 ที่ตำนานอ้างถึงนั้น อาณาจักรมคธ อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์กานวะ ส่วนพระนาคเสน และพระเจ้ามิลินท์ (ชื่อตามประวัติศาสตร์คือ พระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1) ที่กล่าวอ้างไว้ ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. 378 - พ.ศ. 413 อยู่ที่กรุงสาคละ (อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือหลายพันกิโลเมตร) ซึ่งไม่ตรงกันทั้งช่วงเวลาและสถานที่ อีกทั้ง ช่วงพ.ศ. 800 ที่ตำนานกล่าวถึงอีกครั้ง ในขณะนั้นแคว้นมคธได้ล่มสลายไปแล้ว อยู่ในช่วงต้นของอาณาจักรคุปตะ จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าตำนานช่วงต้นนั้นเห็นจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นมา