การเวียนเทียน

18964 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเวียนเทียน เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติด้วยความสำรวมเพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิด ขึ้นแก่ผู้พบเห็น ทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่นและชาวต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนปฏิบัติ ดังนี้

การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน
แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
เตรียมเครื่อบูชาให้พร้อม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน
ควรเดินทางมาถึงวัดหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียนก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
เมื่อ เดินทางถึงวัดควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยเพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับขั้นตอนที่ เหมาะสมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน
ระเบียบปฏิบัติการเวียนเทียน
การเวียนเทียนในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา มีระเบียบดังนี้

เมื่อกำหนดวันมาฆบูชา วันวิสาบูชา วันอัฏฐมีบูชาหรือวันอาสาฬหบูชา ให้ทางวัดประกาศให้พุทธบริษัททราบทั่วกัน (ทั้งชาววัดและชาวบ้าน) และบอกกำหนดเวลาประกอบพิธีด้วยว่าจะประกอบเวลาไหน จะเป็นตอนบ่ายหรือค่ำก็ได้แล้วแต่สะดวกเมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัท ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือลานพระเจดีย์ อันเป็นหลักของวัดนั้นๆ ภิกษุอยู่แถวหน้า ถัดไปสามเณร ท้ายสุดอุบาสก อุบาสิกา จะจัดให้ชายอยู่กลุ่มชาย หญิงอยู่กลุ่มหญิง หรือเปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่จะกำหนด ทุกคนควรถือดอกไม้ธูปเทียน ตามแต่จะหาได้และศรัทธาของตน ควรกะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้ จนครบ ๓ รอบสถานที่ที่เดิน ไม่หมดเสียในระหว่างเดิน

เมื่อพร้อมกันแล้ว ประธานสงฆ์จุดเทียนและธูป ทุกคนจุดของตนตาม เสร็จแล้วถือดอกไม้ธูปเทียนที่จะจุดและประนมมือ หันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้นๆ แล้วกล่าวคำบูชาตามแบบที่กำหนดไว้ตามประธานสงฆ์ จนจบ

ประธานสงฆ์ประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินนำหน้าแถวไปทางขวามือของสถานที่ที่ เวียนเทียน คือ เดินเวียนไปทางที่มือขวาของตนหันเข้าสถานที่ที่เวียนนั้นจนครบ ๓ รอบการเดินเวียนขวาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง ตามธรรมเนียมอินเดียในสมัยพุทธกาลในแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ตามลำดับดังนี้

รอบแรก : ระลึกถึงพระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา
เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

คำแปล : เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้โลกแจ่มแจ้งทรงเป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่ง กว่า ทรงเป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

รอบที่สอง : ระลึกถึงพระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก
อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ

คำแปล : พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงได้เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัด เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

รอบที่สาม : ระลึกถึงพระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย
อัญชลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ


คำแปล : พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใดปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรืองตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่เตรียมไว้ ต่อจากนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถหรือวิหารหรือศาลาการเปรียญ แล้วแต่ที่ทางวัดกำหนด เริ่มทำวัตรเย็นและสวดมนต์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะ ธรรมดา เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติและเรื่องที่เกี่ยวกับวัน มาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา หรืออาสาฬหบูชา ๑ กัณฑ์ ตามแต่จะเป็นเทศกาลใดเป็นอันเสร็จ

การปฏิบัติตนขณะเวียนเทียน
เมื่อเริ่มเวียนเทียน ต้องสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย
ควรรักษาระยะการเดินทางให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่นเพราะจะทำให้เสื้อผ้าผู้อื่นเสียหายหรือทำให้ บาดเจ็บ
ควรเดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไม่เร็วหรือช้าเกินไปหรือเดินแซงกัน
เจริญภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณในรอบแรก พระธรรมคุณในรอบสอง และพระสังฆคุณในรอบสามไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่ ตลอดจนทำให้ผู้อื่นเกิดความรำคาญหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
เวียนเทียนครบ ๓ รอบ ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้

Powered by MakeWebEasy.com