พระเจ้าสิบชาติ – พระเตมีย์ใบ

11377 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พระเจ้าสิบชาติ – พระเตมีย์ใบ

ในครั้งก่อนนานมาแล้ว พระเจ้ากาสิกราชครองสมบัติในเมืองพาราณสี แต่พระองค์หามีราชโอรสและธิดาไม่ ด้วยกลัวว่าจะไม่มีผู้สืบสกุล จึงให้นางจันทเทวีและนางสนมกำนัลทำพิธีขอพระราชโอรส

พระอัครมเหสีก็ทรงทำตาม จึงได้ทรงครรภ์ เมื่อครบกำหนดแล้วก็ประสูติออกมาเป็นราชกุมาร พระเจ้ากาสิกราชทรงดีพระทัยเป็นอันมาก จัดให้การสมโภชและพระราชทานนางนมให้แก่พระราชกุมาร และขนานนามว่า เตมีย์กุมาร เพราะในวันประสูตินั้น ฝนได้ตกทั่วทั้งพระนคร และเป็นเหตุให้พระหฤทัยของพระองค์และประชาราษฏร์ได้รับความแช่มชื่น


เรื่องความกลัวว่าราชวงค์จะสูญเสีย ก็เป็นอันหมดไป พระเจ้ากาสิกราชทรงโปรดปรานพระราชกุมารมาก บางครั้งถึงกับอุ้มออกไปทรงว่าราชการด้วย


วันหนึ่งขณะที่พระราชบิดาอุ้มออกไปทรงว่าราชการอยู่นั้น อำมาตย์ได้นำโจรมาให้ทรงวินิฉัย ๔ คนด้วยกัน พระราชาทรงสั่งให้ลงอาญาโจรเหล่านั้น คน ๑ ให้เฆี่ยนด้วยหนามหวาย คน ๑ ให้เอาหอกแทงทรมานให้เจ็บปวดแสนสาหัส คน ๑ ให้เอาหลาวเสียบไว้ทั้งเป็น คน ๑ ให้คุมขังไว้


พระราชกุมารได้ทรงเห็นเช่นนั้น ก็ระลึกความหลังครั้งไปอยู่นรก ก็คิดว่าพระราชบิดาของเราทำดังนี้น่ากลัวเหลือเกิน ตายไปแล้วก็จะต้องไปตกนรกอีกแน่นอน เราเองถ้าใหญ่ขึ้นมาก็จะต้องครอบครองแผ่นดิน ก็จะต้องทำอย่างพระราชบิดา เราก็จะต้องไปเกิดในนรกอย่างแน่นอน ทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากการต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้


เทพธิดาผู้เคยเป็นมารดาของพระราชกุมารในครั้งก่อน สิงอยู่ที่เศวตฉัตร ได้แนะนำพระราชกุมารให้ปฏิปัติ ๓ ประการคือ


๑. จงเป็นคนง่อย
๒. จงเป็นคนหูหนวก
๓. จงเป็นคนใบ้
แล้วจะพ้นจากสิ่งเหล่านี้

นับตั้งแต่นั้นมา เตมีย์ก็เริ่มปฏิบัติไม่พูดไม่จาอะไรทั้งนั้น ใครมาพูดก็ทำเป็นไม่ใด้ยิน เอาอุ้มไปวางไว้ที่ไหนก็นั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ขยับเขยื้อนไปในที่ใด


พระราชบิดาทรงสงสัยว่าแต่ก่อนพระราชกุมารก็เหมือนเด็กทั่วไปรื่นเริงโลดเต้น เจรจาเสียงแจ๋วอยู่ตลอดเวลา ทำไมกลับมาเงียบขรึมไม่พูดไม่จา ใครจะพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน คงจะเกิดโรคภัยชนิดใดขึ้นเป็นแน่ จึงให้หมอมาตรวจ ก็มิได้พบว่าพระราชกุมารเป็นอะไร คงเป็นปกติทุกอย่าง


ก็ทรงให้ทดลองหลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าให้อยู่ในที่สกปรก พระเตมีย์อดทนอยู่ได้ แม้จะหิวก็ไม่ทรงกันแสง แม้จะกลัวก็ไม่แสดงอาการอย่างไร เพราะเห็นว่าภัยในนรกร้ายแรงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงคงเฉย ๆ ทำเอาพระราชบิดาสิ้นปัญญา พวกอำมาตย์รับอาสาว่าจะทดลองดูก่อน ก็ทรงอนุญาติให้


ครั้งแรกเมื่อให้พระเตมีย์นั่งอยู่ในเรือนแล้วแกล้งจุดไฟ เพื่อจะให้พระเตมีย์กลัว แต่หาได้ทำให้พระเตมีย์หวาดกลัวไม่ คงเป็นปกติอยู่


ทดลองอย่างนี้ตั้งปี ก็ไม่พบความผิดปกติอย่างไร ต่อไปก็ทดลองด้วยช้างตกมัน โดยนำพระราชกุมารไปประทับนั่งที่พระลาน ให้มีเด็กห้อมล้อมหมู่มาก แล้วให้ปล่อยช้างที่ฝึกแล้วเชือกหนึ่ง วิ่งตรงเข้าไปจะเหยียบพระกุมาร เด็กที่ห้อมล้อมอยู่หวาดกลัวร้องไห้พากันวิ่งหนีกระจัดกระจายไป แต่พระเตมีย์ก็คงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เช่นเดิม ทดลองอย่างนี้สิ้นเวลาตั้งปีก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรขึ้นมา พระกุมารเคยเงียบไม่กระดุกกระดิกอย่างไรก็คงอย่างนั้น แม้ช้างจะจับพระกายขึ้นเพื่อจะฟาดก็ไม่ตกใจกลัว เพราะมุ่งหวังอย่างเดียวจะพ้นจากการเป็นพระเจ้าแผ่นดินให้ได้


ต่อไปก็ทดลองด้วยงู ให้พระเตมีย์นั่งอยู่ แล้วให้ปล่อยงูมารัด ตามธรรมดาเด็กย่อมจะกลัวงู อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่ผู้ใหญ่ก็เถอะ เรื่องงูใครจะไม่กลัว แต่ก็ไม่ทำให้พระเตมีย์หวาดกลัวไปได้ คงนั่งนิ่งเฉยทำเหมือนรูปปั้นเสีย เล่นเอาอำมาตย์เจ้าปัญญาถึงกับสั่นหัว ทดลองอย่างนี้อีกเป็นระยะเวลาตั้งปี ก็ไม่อาจจะจับพิรุธพระกุมารได้


ต่อไปให้ทดลองด้วยการให้พระเตมีย์นั่งอยู่ แล้วให้คนถือดาบวี่งมาจะทำอันตราย แต่พระกุมารทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หูไม่ได้ยิน ปากก็ไม่มีเสียง กายไม่กระดิกกระเดี้ย ทดลองอย่างนี้เป็นเวลาตั้งปีก็จับอะไรพระกุมารไม่ได้


ต่อไปก็ทดลองด้วยเสียง โดยให้พระเตมีย์นั่งอยู่พระองค์เดียว แล้วจู่ ๆ ก็มีคนเป่าสังข์เป่าแตร ตีกลองขึ้นพร้อมกัน ถ้าเป็นเราก็คงโดด เพราะจู่ ๆ เสียงอึกทึกครึกโครมก็ดังขึ้นมา แต่พระเตมีย์คงทำไม่ได้ยินเช่นเคย


การทดลองของอำมาตย์เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๗ ปี หลายปีที่ทำมาก็ไม่สามารถทำให้พระเตมีย์พูดออกมาได้ ตั้งแต่ ๙ ขวบ จนกระทั่ง ๑๖ ขวบ พระเตมีย์ก็คงทำเช่นนั้น


เมื่อวัยของพระเตมีย์ใหญ่กล้าขึ้นมาแล้ว ก็คิดทดลองอีกอย่าง คือเห็นวัยแรกรุ่นย่อมจะชอบใจในกามารมณ์ จึงจัดให้ให้นางสาวน้อย ๆ มาเล้าโลมประการใด ๆ กอดรัดบ้าง ลูบโน่นลูบนี่บ้าง จนกระทั่งเปิดโน่นให้ดูบ้าง เปิดนี่ให้ดูบ้าง จะทำอย่างไรพระเตมีย์ก็คงทำเฉยไม่รู้ไม่ชี้ทองไม่รู้ร้อนตลอดกาล


ใครจะพูดอย่างไร จะทำอย่างไรพระเตมีย์ไม่ได้ยินทั้งนั้น ไม่ยอมเคลื่อนไหว ไม่ร้องไห้เหมือนเด็ก ๆ ไม่อ้าปากส่งเสียงอะไรออกมา


ผลที่สุดทั้งพระราชบิดา และอำมาตย์ ลงความเห็นว่าพระกุมารคงจะเป็นคนกาลกิณีเสียแล้ว ขืนให้อยู่ต่อไปคงจะเกิดอันตรายขึ้นแก่พระองค์ แก่สมบัติ และแก่พระอัครมเหสี ควรจะเอาออกไปทิ้งเสียที่ป่าช้าผีดิบนอกเมือง


พระราชาก็เห็นด้วย จึงดำริจะให้เอาไปทิ้งเสีย แต่พระเทวีผู้อัครมเหสีมาเฝ้ากราบทูลว่า


“ขอเดชะ พระองค์ได้พระราชทานพรไว้แก่ข้าพระองค์ บัดนี้หม่อมฉันจะทูลขอพรที่ได้ให้ไว้นั้น”


“พระเทวี เธอจะขออะไรก็ตรัสไป ถ้าไม่หลือวิสัยแล้วจะให้”


“ข้าพระองค์ขอราชสมบัติให้พระเตมีย์”


“อะไรกันพระเทวี ก็เจ้าเตมีย์เป็นคนใบ้ แล้วก็หูหนวก เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างไร”


“ก็เพราะพระเตมีย์เป็นอย่างนั้น หม่อมฉันจึงขอพระราชทานสมบัติ”


“ไม่ได้พระเทวี เลือกขออย่างอื่นเถิด”


“หม่อมฉันขอเลือกให้พ่อเตมีย์ครองแผ่นดิน แม้ไม่ได้มาก เพียง ๗ ปีก็พอ”


“ไม่ได้พระเทวี จะเป็นความเดือดร้อนแก่คนอื่นมากมายนัก ลูกเราไม่มีความสามารถ ถ้าดีอยู่อย่าว่าแต่ ๗ ปีเลย ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะให้สมบัติตลอดไป”


“ขอสัก ๑ ปีก็แล้วกัน หม่อมฉันขอให้พ่อเตมีย์ได้เป็นสักหน่อยเถิด”


“ไม่ได้พระเทวี”


โดยอาการเช่นนี้ ต่อกันอย่างของซื้อของขาย จนกระทั่งถึง ๗ วัน ซึ่งพระนางอ้างเหตุผลเพื่อจะให้ลูกได้ครองราชสมบัติเสียหน่อย แล้วจะเอาไปทำอะไรก็เอาไปเถิด


พระเจ้ากาสิกราชก็ยอมตกลง จึงได้ให้ตกแต่งร่างกายของพระเตมีย์ในเครื่องกษัตริย์ แล้วให้เสด็จเลียบพระนคร ประกาศให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปทราบว่า บัดนี้พระเตมีย์ได้เป็นกษัตริย์


แม้ใคร ๆ จะทำอย่างไร พระเตมีย์ยังคงเฉย ร่างกายไม่เคลื่อนไหวเป็นเหมือนหุ่น เขาวางไว้ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ไม่ได้พูดไม่จาอะไรทั้งสิ้น ใครจะทำอะไรก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของพระกุมารทั้งสิ้น


พอครบ ๗ วัน พระนางจันทเทวีก็ทรงพระกันแสง เพราะครบกำหนดที่สัญญาไว้กับพระราชาแล้ว พระราชาจึงมอบพระเตมีย์กุมารให้กับนายสุนันทสารถีเอาใส่รถไปฝังเสียที่ป่าช้าผีดิบภายนอกเมือง


นายสุนันทก็เอาพระเตมีย์ใส่ท้ายรถขับออกจากเมืองไปยังป่าช้าผีดิบ แต่เขาหารู้ไม่ว่าทางที่เขาจะไปนั้นม้นไม่ใช่ป่าช้าผีดิบ แต่เป็นป่าอีกแห่งหนึ่งต่างหาก


ความผิดพลาดของนายสารถี นับแต่เริ่มเทียมรถม้าแล้ว คือแทนที่จะเอารถสำหรับใส่ศพ กลับเอารถมงคลมาเทียมแทนและเมื่อรับพระเตมีย์แล้วก็คิดว่าจะขับไปป่าช้าผีดิบซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง นายสารถีกลับขับรถมาทางทิศตะวันออก จึงเป็นอันว่านายสุนันทสารถีผิดพลาดตลอดมา


แต่การผิดพลาดนี้เป็นผลดีของพระเตมีย์ เมื่อถึงป่านอกเมือง ซึ่งนายสุนันทคิดว่าเป็นป่าช้าผีดิบ เขาก็หยุดรถ หยิบจอบเสียมลงไปเพื่อขุดหลุมฝังศพพระกุมารเสีย หูของเขายังแว่วพระดำรัสของพระราชาที่ว่า


“ลูกข้าคนนี้เป็นกาลกิณี เอ็งจงเอาไปป่าช้าแล้วขุดหลุมสี่เหลี่ยมให้ลึก แล้วเอาจอบทุบหัวมันเสียก่อนแล้วจึงค่อยฝังมันทีหลัง ช่วยมันหน่อยอย่าให้มันต้องถูกฝังทั้งเป็นเลย


ในขณะที่นายสารถีกำลังขุดหลุมอยู่ไมไกลจากรถนี้นเอง พระเตมีย์ก็คิดว่าร่างกายของเราไมได้เคลื่อนไหวมาตั้ง ๑๖ ปี จะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ ก็ทรงกายลุกขึ้นลงมาจากรถทดลองเดินไปมาอยู่ข้างรถ


“ไม่เป็นอะไร มือเท้าไม่ได้เป็นง่อยเปลี้ยเสียแข้งขาไปแต่อย่างใด แต่กำลังเล่าจะเป็นไฉน”


คิดแล้วก็จับเอางอนรถยกขึ้น


เป็นความมหัศจรรย์อะไรอย่างนั้น พระเตมีย์ยกรถขึ้นกวัดแกว่งได้ เหมือนยกเอารถตุ๊กตาเบาแสนเบา แล้วกลับวางลงอย่างเดิม แลเห็นนายสารถีก้มหน้าก้มตาขุดหลุมอยู่โดยไม่ทราบว่าพระองค์ได้ทำอย่างไรบ้าง จึงเดินเข้าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ


แต่นายสารถีก็ยังไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้น คงก้มหน้าขุดหลุมเพื่อให้เสร็จ แล้วจะได้ฝังพระกุมารเสีย แล้วจะได้กลับไปหาลูกเมียเพราะใจจดจ่ออยู่เช่นนั้น แม้พระกุมารจะเดินเข้ามายืนใกล้ๆ ก็ไม่รู้ แต่ก็ตกใจเมื่อได้ยินเสียง


“สารถีท่านขุดหลุมสี่เหลียมทำไมกัน”


เขาเหลียวหน้ามามองแต่ก็จำไม่ได้ว่าเป็นพระกุมารที่ตนนำมา คิดเสียว่าเป็นคนอื่น เพราะเห็นรูปร่างท่าทางเป็นสง่า ก็เลยคิดว่าเป็นคนเดินทางผ่านมาเห็นตนกำลังขุดหลุมอยู่ก็แวะเข้ามาสอบถามดู


“ขุดฝังคน”


เขาตอบสั้น ๆ


“ฝังใครกันล่ะ?”


“ฝังลูกพระเจ้าแผ่นดิน”


“ฝังทำไมกันล่ะ?”


“เรื่องมันยืดยาว ท่านอยากจะรู้ไปทำไม”


“ก็อยากจะรู้บ้างว่าคน ๆ นั้นเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดินจะมาถูกฝังเพราะโทษอะไร”


นายสารถีก็ชี้แจงว่า


“ไม่มีโทษอะไรหรอก แต่เพราะพระราชกุมารเป็นคนกาลกิณี ขืนทิ้งไว้นานไปความอุบาทว์จัญไรทั้งหลายก็จะเกิดแก่ราชสมบัติ”


พระเตมีย์จึงแสร้งตรัสถามต่อไปว่า


“คนกาลกิณีน่ะเป็นอย่างไร?”


“ก็คนไม่ดีน่ะสิ”


นายสารถีชักจะถอนฉุน


“ไม่ดีอย่างไร?”


“เอ…ท่านนี่ควรจะไปเป็นศาลตุลาการ แทนที่จะเป็นคนเดินทาง เพราะแก่ซักถามเสียจริง”


พระกุมารก็ไม่ขุ่นเคือง คงมีพระดำรัสเรียบ ๆ ถามต่อไป


“ข้าพเจ้าอยากรู้จริง ๆ ก็เลยรบกวนท่านหน่อย”


“เอา…อย่างนั้นคอยฟัง คือว่าพระโอรสของเจ้านายข้าพเจ้าคนนี้ เกิดมามีลักษณะสวยงามน่าเอ็นดูอยู่หรอก แต่แล้วภายหลังมาเกิดไม่พูดไม่จา แขนขาไม่ยกไม่ก้าวเอาเสียเฉย ๆ ยังงั้นเเหละใครจะพูดอะไร หูก็แถมหนวกเสียด้วย เลยเป็นอันว่าเหมือนตุ๊กตาตัวโต ๆ ที่เขาเอาตั้งไว้อย่างไรก็อย่างนั้น”


“แล้วอย่างไรอีกล่ะ”


“ก็ไม่ยังไงหรอก พระเจ้าแผ่นดินรอมาถึง ๑๖ ปี ก็ไม่เห็นดีขึ้น เลยตัดสินใจให้ข้าพเจ้าเอามาฝังเสีย หลุมที่ขุดอยู่นี่แหละที่จะฝังพระราชกุมาร ท่านเข้าใจหรือยัง”


สารถีกลับถามบ้าง แต่เขาก็เกิดสงสัยเพราะได้ยินคำถามกลับมาว่า


“ท่านรู้จักไหมว่าเราเป็นใคร”


จึงมองอย่างพินิจพิจารณา แต่เขาก็จำไม่ได้ เพราะผู้ที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้าบัดนี้ ไม่ใช่พระกุมารผู้เป็นง่อยเปลี้ยเสียแข้งขาเสียแล้ว แม้ว่าหน้าตาจะดูคล้ายคลึงกับพระกุมาร แต่เขาก็ไม่แน่ใจนักจึงทำให้เขาอ้ำอึ้งอยู่


เมื่อเห็นสารถีมองดูด้วยความสงสัย จึงประกาศตนว่า


“สารถี เราคือเตมีย์กุมารที่ท่านจะนำมาฝัง ท่านลองพิจารณาดูเถิดว่าเป็นคนกาลกิณีหรือเปล่า ดูสิเราเป็นง่อยหรือเปล่า”


นายสารถีได้แต่มองอย่างสงสัย แล้วก็เอ่ยขึ้นรำพึงกับตัวเองว่า


“เอ…จะว่าพระกุมารก็ไม่น่าเป็นไปได้ จะว่าไม่ใช่ก็ดูกระไรอยู่”


ทำให้พระกุมารต้องประกาศออกมาอีกว่า


“เราคือเตมีย์กุมาร โอรสของพระเจ้ากาสิกราชที่ท่านอาศัยเลี้ยงชีพด้วยการเป็นราชบริพารอยู่บัดนี้ อย่าสงสัยเลย ท่านขุดหลุมฝังเราน่ะเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมเลย”


“ทำไมจะไม่เป็นธรรม”


“เพราะท่านมองดูสิว่าเราเป็นคนกาลกิณีหรือเปล่า ท่านได้รับคำสั่งให้ฝังคนกาลกิณีต่างหาก”


“จริงสินะ” สารถีคิด แต่เขาก็อ้ำอึ้งอยู่ ไม่รู้จะกล่าวออกมาว่ากระไรอีก


พระเตมีย์จึงกล่าวต่อไปว่า


“คนผู้ไม่ทำร้ายมิตร แม้จะไปในสถานที่ใดก็ไม่อดอยาก เพราะใคร ๆ ก็ต้องคบหาสมาคมกับเขา เมื่อมีการคบหาสมาคมแล้ว อันตรายต่าง ๆ ก็จะไม่มี จะมีแต่ลาภสักการะต่าง ๆ”


ถึงจะกล่าวอย่างไร นายสารถีก็ได้แต่สงสัย จึงหยุดการขุดหลุมแล้วไปพิจารณาใกล้ๆ และเขาก็จำได้ว่าเป็นพระกุมารที่เขาจะนำมาฝังนั่นเอง เขาจึงก้มลงกราบที่เท้าของพระเตมีย์


“โอ้ ข้าพระบาทเป็นคนโง่เขลา ทั้งนายของตนเองก็จำไม่ได้ เหมือนปาฏิหาริย์บันดาลให้เกิดไม่น่าเชื่อ”


“ทำไมถึงไม่น่าเชื่อ”


“เพราะพระองค์ไม่เคลื่อนไหวร่างกายตั้งสิบกว่าปี อวัยวะควรจะใช้ไม่ได้ ควรจะเหี่ยวแห้งไป แต่นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ นับว่าเป็นความแปลกประหลาดมากทีเดียว”


“เมื่อท่านเห็นเราเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านยังจะคิดฝังเราอีกหรือเปล่า”


“ไม่พะย่ะค่ะ ข้าพระบาทเลิกคิดจะทำร้ายพระองค์เสียแล้ว ข้าพระองค์จะนำพระองค์เข้าไปเฝ้าพระราชบิดามารดา เพื่อจะได้ครองราชสมบัติต่อไป”


“เราไม่คิดจะกลับไปสู่สถานเช่นนั้นอีก เพราะที่นั้นเป็นเหตุให้กระทำความชั่ว ซึ่งต่อไปจะทำให้บังเกิดในนรกอย่างไม่รู้จะผุดเกิดเมื่อไหร่”


แต่นายสารถีก็ยังแสดงความดีใจ


“ถ้าข้าพระองค์นำพระองค์กลับเข้าไปได้ ใคร ๆ ก็ต้องแสดงความยินดีกับข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็จะได้เงินทองทรัพย์สมบัติผ้าผ่อนและแพรพรรณต่าง ๆ จากคนเหล่านั้น เป็นต้นว่า พระราชบิดามารดาของพระองค์ก็ทรงยินดี ข้าพระองค์อาจจะได้ยศศักดิ์บริวาร และอะไร ๆ ตามปรารถนา เพราะใคร ๆ แสดงความสามารถที่จะให้พระองค์ไม่กลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นหนวก เป็นใบ้มาตั้ง ๑๐ กว่าปี ก็ทำไม่สำเร็จ แต่ข้าพระองค์กลับทำได้ เป็นความดีใจที่เหนือความดีใจทั้งหมดที่เคยมี ข้าพระองค์กำลังจะได้รับความสุข ไม่ต้องลำบากลำบนเช่นเดี๋ยวนี้”


“ท่านอย่าเพิ่งดีใจไปก่อน เราจะว่าให้ฟัง เราเป็นคนไม่มีญาติขาดมิตร เป็นคนกำพร้า เป็นคนกาลกิณี จนเขาต้องให้ท่านเอาเรามาฝังเสียยังป่าช้าผีดิบ ถ้าท่านนำเรากลับไปก็ไม่ดี ท่านนั่นเเหละอาจจะกลายเป็นคนกาลกิณีไปก็ได้ เพราะใคร ๆ เขาก็เข้าใจอย่างนั้นแล้ว ท่านจะฝืนความคิดคนอื่นได้อย่างไร เราสละแล้วด้วยประการทั้งปวง บ้านเรือนแว่นแคว้นเราไม่มี เราจะบำเพ็ญพรตรักษาศีลอยู่ในป่านี้โดยไม่กลับไปอีกล่ะ”


“พระองค์น่าจะตรัสกับพระราชบิดามารดาเสียก่อน”


“ไม่ล่ะ เราทำความเพียรเพื่อจะออกจากเมืองเป็นจำนวนกาลถึง ๑๐ กว่าปี ความตั้งใจของเราจะสำเร็จแล้ว เราจะไม่เข้าไปสู่สถานที่ทำกรรมอีกล่ะ ถ้าเราเป็นพระเจ้าแผ่นดินอาจจะอยู่ไปได้หลายสิบปี แต่เราจะต้องทำกรรมแล้วไปตกอยู่ในนรกตั้งหมื่นปี ท่านลองคิดดูว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องสั่งให้เขาเฆี่ยนตี ฆ่าคนนี้ ทำทรมานคนโน้น ริบทรัพย์คนนั้น ริบทรัพย์คนโน้น วันละเท่าไร ปีละเท่าไร แล้วผลของการกระทำความชั่วนั้นจะไม่ย้อนกลับมาให้ผลเราบ้างหรือ”


นายสารถีอดที่จะค้านไม่ได้


“พระเจ้าแผ่นดินจะทรงทำอย่างนั้น ว่าโดยทางโลกยินยอมว่าเป็นความถูกต้อง เขาให้อำนาจที่จะกระทำได้”


“แต่ท่านต้องไม่ลืมนะว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ผิดจากทางโลก แต่ทางธรรมไม่เคยยกเว้นให้ใคร ทางธรรมมีอยู่ว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ผลของการทำดีนำไปสู่สวรรค์ ผลของการทำชั่วนำไปสู่นรก”


นายสารถีจึงกราบทูลว่า


“ข้าพระองค์เป็นคนเขลา ยังคิดเสียว่าเป็นความสุขสบาย แต่เมื่อพระองค์ดำรัสก็เห็นได้จริงว่า คงอย่างนั้น ทุกคนต้องรักขีวิตร่างกายของตนทั้งนั้น เมื่อใดใครมาทำอันตรายก็ต้องไม่ชอบเป็นธรรมดา เมื่อพระองค์เห็นว่าโลกยุ่งมากนักจะบวช ข้าพระองค์ก็จะบวชเหมือนกัน”


พระกุมารดำริว่า


“หากให้นายสารถีบวชเสีย ม้ารถก็จะเสียหาย และพระราชบิดามารดาคงได้รับความโทมนัสที่จะเอาเรามาฝังเสีย ถ้าให้ท่านกลับคืนไปเมืองก็จะทำให้พระองค์ต้องเสด็จมาดูเรา ได้รับความโสมนัส และบางทีพระราชบิดาจะกลับใจประพฤติชอบขึ้นมาบ้าง” จึงตรัสว่า


“เธอกลับไปส่งข่าวแก่พระราชบิดามารดาก่อนเถิดแล้วค่อยมาบวชภายหลัง เพราะบวชด้วยความเป็นหนี้ไม่ดีเลย”


นายสารถียินดีจะกลับไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน แต่เกรงว่าเมื่อตนไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เมื่อเสด็จมาดูไม่พบพระกุมารก็เลยกลายเป็นว่าตนโกหก อาจจะถูกลงพระอาญาได้ จึงทูลขอพระกุมารไว้อย่าได้เสด็จไปที่อื่น ซึ่งพระกุมารก็รับคำ นายสารถีจึงได้ลากลับไป


พระนางจันทรเทวี นับแต่นายสารถีเอาพระราชกุมารไปแล้ว พระองค์ก็คอยเฝ้ามองอยู่ว่าเมื่อไรนายสารถีจะกลับมา จะได้ทราบเรื่องพระโอรสที่รักบ้าง เมื่อเห็นนายสารถีกลับมาคนเดียว ก็แน่พระทัยว่าพระราชโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์เสียแล้ว น้ำพระเนตรก็ไหลอาบพระปรางด้วยความโทมนัส ตรัสถามนายสารถีว่า


“พ่อสารถี ที่พ่อเอาโอรสของเราไปฝังนั้น พ่อได้รับคำสั่งเสียจากโอรสของเราอย่างไรบ้าง และโอรสของเราได้ทำอย่างไร”


นายสารถีจึงกราบทูลว่า


“ขอเดชะพระแม่เจ้า ข้าพระบาทจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดกับพระกุมารให้ฟังตั้งแต่ต้นจนปลาย”


แล้วเขาก็เล่าตั้งเเต่นำเอาพระโอรสอออกไปขุดหลุมจะฝัง แต่พระโอรสก็กลับกลายหายจากเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา เจรจาได้ ทรงพลกำลังยกรถที่ขี่ออกไปขึ้นกวัดแกว่ง จนกระทั่งตนได้ทราบความจริงว่าทำไมพระกุมารจึงได้ทำอย่างนั้น แล้วเขาก็ลงท้ายว่า


“ขอเดชะ บัดนี้พระองค์ทรงผนวชอยู่ในราวเบื้องป่าบูรพาทิศของเมืองนี้พระเจ้าข้า”


เท่านั้นเองพระนางก็ลิงโลดพระทัยตรัสออกมาว่า


“โอ พ่อเตมีย์ของแม่ไม่ตายดอกหรือ เออ.! ดีใจ ดีใจจริง”


สองพระกรก็ทาบพระอุระ ข่มความตื้นตันไว้ในพระทัย


ถึงพระเจ้ากาสิกราชก็ดีพระทัยเช่นกัน การที่พระองค์ให้เอาพระเตมีย์ไปฝังเสียนั้น ใช่พระองค์จะชิงชังหรือรังเกียจก็หามิได้ แท้ที่จริงเพราะพระองค์กลัวว่าอันตรายจะเกิดกับพระราชวงศ์ ตลอดจนพระมเหสีที่รักต่างหาก


และนายสารถีก็ได้กราบทูลต่อไปว่า


“พระราชกุมารทรงพระสรีระโฉมงามสง่างามเหลือเกิน มีสุรเสียงไพเราะตรัสออกมาน่าฟัง เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะพระกุมารตรัสเล่าให้ฟังว่า ทรงระลึกชาติได้ว่าครั้งชาติก่อนพระองค์ได้เคยเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทำกรรมมีการจับกุมคุมขังเฆี่ยนฆ่านักโทษมีประการต่าง ๆ ครั้นพระองค์สวรรคตแล้ว ได้ไปบังเกิดในนรกเป็นเวลานาน เหมือนคนที่ถูกงูกัด มองเห็นสิ่งอะไรคล้ายกับงูก็ย่อมจะกลัวไปหมด ฉะนั้นข้าพระองค์เองยังอยากจะบวชอยู่ในป่านั้นด้วย แต่พระกุมารไม่ยอมให้ข้าพระองค์บวช บอกให้ข้าพระองค์กลับมาทูลเรื่องราวให้พระองค์ทั้งสองทราบเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปบวชภายหลัง ข้าพระองค์จึงได้รีบกลับมากลาบทูลให้พระองค์ทรงทราบ หากพระองค์อยากจะเสด็จไปสถานที่นั้น ข้าพระองค์จักนำเสด็จไปเอง”


พระเจ้ากาสิกราชมีพระดำรัสให้เตรียมพหลโยธาเพื่อจะเสด็จไป เสร็จแล้วสุนันทสารถีก็เป็นผู้นำทางพระราชาและพระราชินีไปเฝ้าพระเตมีย์กุมาร ซึ่งบวชบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าด้านปราจีนทิศของเมือง


แต่การเข้าไปนี้พระราชาเป็นผู้เสด็จเข้าไปก่อนเพื่อสอบถามความทุกข์สุขซึ่งกันและกัน พระเทวีจึงเสด็จเข้าไป เมื่อเห็นพระโอรสเสด็จประทับนั่งอยู่ ด้วยความปลื้มปีติพระนางตรงเข้าไปกอดพระบาทของพระโอรส ทรงกันแสงสะอึกสะอึ้นแล้วถอยออกมานั่ง


พระราชาจึงถามพระเตมีย์ว่า


“พ่อเตมีย์บริโภคแต่ใบไม้ผลไม้ในป่า ทำไมจึงมีร่างกายสดใส”


เตมีย์กุมารจึงทูลตอบ


“ขอเดชะการที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่า สละความห่วงใยไม่ให้มาเกาะเกี่ยวจิตใจ อะไรที่ล่วงมาแล้วก็ไม่คิดเศร้าโศก ไม่คิดอยากได้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง พยายามรักษาจิตใจในสิ่งที่เป็นปัจจุปันเท่านั้น จึงทำให้ผิวพรรณของหม่อมฉันไม่เศร้าหมอง”


“เมื่อพ่อไม่เป็นกาลกิณีแล้ว พ่อก็ควรจะกลับไปครองราชสมบัติเพื่อประโยชย์แก่ชนหมู่มากเถิด บัดนี้พ่อก็เอาเบญจราชกกุธภัณฑ์มาด้วยแล้ว และเมื่อกลับไปถึงบ้านเมืองแล้วจะได้ไปสู่ขอลูกกษัตริย์อื่นให้มาเป็นอัครมเหสี ถ้าอยากจะบวชก็จงบวชเถิด แต่ขอให้นางเหล่านั้นมีโอรสเสียก่อน ตระกูลวงศ์ของเราก็จะไม่เสียไป”


เตมีย์กลับกล่าวตัดบทว่า


“การบวชควรจะบวชเมื่อยังหนุ่ม เพราะสังขารร่างกายของเราตกอยู่ในคติของธรรมดา เกิดแล้วก็แก่เจ็บตายไปตามสภาพ รู้ไม่ได้ว่าเราจะตายไปเมื่อใด พระราชบิดาก็คงจะต้องเห็น บางคนลูกตายก่อนพ่อแม่ น้องตายก่อนพี่ เหล่านี้แล้ว จะมัวประมาทอยู่ได้อย่างไร โลกเราถูกครอบงำอยู่ด้วยมฤตยู พระองค์ลองคิดดูช่างหูกเขาจะทอผ้าสักผืนหนึ่ง ทอไปทอไปข้างหน้าก็น้อยเข้าฉันใด ชีวิตของคนเราก็เช่นนั้น พระองค์อย่ามัวประมาทอยู่เลย”


พระราชาได้สดับแล้วก็คิดจะบวชบ้าง แต่ก็คิดจะลองใจเตมีย์กุมารดูอีก ก็ตรัสชวนในราชสมบัติและยกเอากามคุณต่าง ๆ มาล่อ แต่พระเตมีย์ก็คงยืนยันเช่นนั้นพร้อมกับอธิบายถึงผลภัยของราชสมบัติมีประการต่าง ๆ จนพระราชาตกลงพระทัยจะผนวช


จึงให้เอากลองไปตีป่าวประกาศว่า ใครอยากจะบวชในสำนักพระเตมีย์ก็จงบวชเถิด และมิใช่แต่เท่านั้น ยังได้จารึกแผ่นทองคำไปติดไว้ที่เสาท้องพระโรงว่า ใครจะต้องการทรัพย์สมบัติใด ๆ ในคลังหลวงจงมาเอาไปเถิด


พร้อมกันนั้นก็สั่งให้เปิดพระคลังทั้งสิบสองพระคลังเพื่อจะให้คนที่ปรารถนาจะได้เข้าไปขนเอา


ประชาชนราษฎรพากันแตกตื่นไปบวชในสำนักพระเตมีย์ บ้านเรือนก็เปิดที้งไว้โดยไม่สนใจ ที่บริเวณ ๓ โยชน์ เต็มไปด้วยดาบสและดาสินี


บรรดารถและช้างม้าที่พระราชานำเอามาแต่เมืองก็ปล่อยให้ทรุดโทรมผุพัง ช้างม้าก็กลายเป็นม้าป่าช้างป่าเกลื่อนไปในป่านั้น


พระราชาที่อยู่ใกล้เคียงได้ทราบว่า กรุงพาราณสีไม่มีผู้คุ้มครองรักษา ก็ยกพหลโยธาหมายจะยึดครองเอาไว้ในอำนาจ เมื่อมาถึงได้เห็นประกาศที่พระเจ้ากาสิกราชติดไว้ ก็ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงทิ้งสมบัติทั้งปวงเสีย ออกไปบวชอยู่ในป่าได้ บ้านเรือนราษฎรก็เปิดทิ้งไว้ ประตูเมืองก็หาคนปิดมิได้ แต่ทรัพย์สมบัติยังคงอยู่ทุกอย่าง เลยยกพหลโยธาตามออกไปในป่า พบพระราชาและพลเมืองบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่านั้น


และเมื่อได้สดับธรรมะที่พระเตมีย์ให้โอวาทเข้าอีก เลยทำให้คิดจะหลีกเร้นออกหาความสุข พากันสละช้างม้าตลอดจนเครื่องอาวุธ บวชอยู่ในสำนักพระเตมีย์ ในบริเวณป่าดาษดาไปด้วยรถที่ผุพังทรุดโทรม สัตว์ป่าวิ่งกันไปในป่าเกลื่อนไปหมด ล้วนแต่เชื่อง ๆ รวมอยู่ใกล้ ๆ กับบรรดาฤาษีเหล่านั้น


บรรดาฤาษีเหล่านั้นก็บำเพ็ญฌานสมาบัติ ตายไปได้บังเกิดในเทวโลก


คติเรื่องนี้ที่ควรจะได้ คือการตั้งใจแน่วแน่ อยากจะได้สิ่งอันใดสมดังความตั้งใจอันนั้น ก็พยายามจนสำเร็จและได้เห็นความอดทน อดกลั้นของพระเตมีย์ ซึ่งต้องทำเป็นคนง่อย คนใบ้ คนหูหนวกสารพัดเป็นเวลาตั้ง ๑๐ กว่าปี หากเราจะตั้งใจแล้วพยายามทำก็จะต้องสำเร็จจนได้ในวันหนึ่ง


เรื่องพระเตมีย์ก็จบลงด้วยความสำเร็จทุกประการฉะนี้

Powered by MakeWebEasy.com